LINE@SPsmartplants

วิธีการดูแลข้าว หลังน้ำลด

น้ำท่วมข้าว

วิธีการดูแลข้าว หลังน้ำลด

        การดูแลนาข้าวหลังน้ำท่วม เมื่อน้ำเริ่มลดลง อย่าเพิ่งใจร้อนค่ะ ให้สังเกตนาข้าว ดังนี้
1. ต้นข้าวได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง
- มีข้าวเน่าบ้างหรือไม่ 
- สีของนาข้าวทั่วไป เป็นสีเหลือง หรือ สีน้ำตาล
- ถ้าข้าวอยู่ในระยะออกรวง / ออกดอก ให้ดูว่ารวงเน่าแล้วหรือยัง ที่กาบใบ หรือที่ใบมีโรคอะไร หรือ แมลงกัดกิน เกิดขึ้นหรือไม่

2. ในช่วงน้ำลดใหม่ๆ 2-3 วัน หลังน้ำลด อย่าเพิ่งใส่ปุ๋ยเคมีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะช่วงนี้ รากยังคงอ่อนแอ และเสียหาย บางครั้ง อาจมีรากเน่าอยู่ด้วย
การใส่ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จะไปช่วยเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่ราก ทำให้รากเน่าเร็วขึ้น

3. อย่าห่วงว่า ข้าวจะต้องได้ปุ๋ยทันที เพราะปกติเมื่อน้ำท่วมนา เป็นเวลา 5-6 วัน แล้วน้ำลดลง พบว่าข้าวจะได้สารอาหารจากน้ำที่หลากมา โดยน้ำจะพัดผ่านแหล่งอาหารธรรมชาติมาด้วย
หลังน้ำลดแล้ว 3-4 วัน ปล่อยให้ดินแห้งดี แล้วจะพบว่า นาข้าวกลับมาสีเขียว ต้นข้าว รวงข้าวเริ่มชู แข็งแรง นาบางแปลง ข้าวกลับมีสีเขียวเข้ม 
ดังนั้น สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือเร่งใส่ปุ๋ยเข้าไปอีก เพราะจะกลับทำให้ข้าวเฝือใบ ต้นอ่อนแอ เป็นที่ชอบพอของแมลง และโรคต่างๆ

4. หากพบว่า 4 -5 วันแล้ว ข้าวมีอาการป่วยมากขึ้น จากเหลือง ก็เหลืองมากขึ้น จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ย เพื่อฟื้นฟูอาการได้ แต่ให้ใส่ทีละน้อย คอยสังเกตอาการฟื้นตัว 
ถ้าข้าวแสดงอาการป่วยไม่หาย ลักษณะเป็นหย่อมๆ ช่วยสังเกตที่โคนต้นข้าว หย่อมนั้น อาจยังคงมีน้ำขังอยู่ เนื่องจากการเตรียมดินระยะแรก หน้าดินไม่สม่ำเสมอ
หรือ ดูที่โคนต้น อาจมีแมลงเข้ามาดีดกินต้นข้าวที่อ่อนแอ โดยเข้ามาระยะที่น้ำเริ่มลด โดยติดมากับน้ำ เจอต้นข้าวอ่อนแอจึงเป็นอาหารอันโอชะ แบบนี้ต้องรีบกำจัด (เฉพาะจุดที่มีอาการ)

5. อย่าเพิ่งตกใจ ให้พิจารณาลักษณะน้ำท่วมข้าว ดังนี้
- ถ้าน้ำท่วมยังไม่มิดต้นข้าว โอกาสรอด มีมาก อาหารที่มากับน้ำ ช่วยลดค่าปุ๋ยได้ด้วย
- ถ้าน้ำท่วมจนมิดต้นข้าว ก็มาพิจารณา ระยะเวลาที่ข้าวอยู่ใต้น้ำ เฉลี่ยข้าวทั่วไป คงอยู่ไต้น้ำได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกิน 7 วัน ก็น่าเป็นห่วงว่าจะฟื้นตัวยาก
- คุณภาพน้ำที่ท่วมขัง มักพูดว่า ถ้าน้ำใส ข้าวรอดเร็ว ถ้าน้ำขุ่น แม้น้ำผ่านไปแล้ว ตะกอนที่ตกค้างบนใบข้าว จะเป็นอุปสรรคในการทำงานของใบข้าวที่จะรับแสง หรือสร้างอาหาร
- ช่วงระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว ถ้าข้าวยังอยู่ในช่วง 2 เดือน แรก คือก่อนระยะเจริญพันธุ์ (Reproductive Stage) ข้าวจะได้รับผลกระทบน้อย เร่งสร้างใบใหม่รากใหม่ เติบโตแตกกอได้อีกมาก แต่ถ้าข้าวใกล้ตั้งท้อง หรือ ข้าวออกดอก ก็จะมีผลกระทบต่อผลผลิต มากกว่า ระยะแรก

ความรู้เหล่านี้ เป็นความรู้จากประสบการณ์ ของนักวิชาการด้านข้าวและจากการทำงาน ของผู้เขียนเอง ที่เป็นห่วง เพราะเคยพบว่า เกษตรกร ตั้งความหวังไว้กับปุ๋ยเคมีอย่างมาก เฝ้ารอว่าน้ำลดแล้ว จะต้องเร่งใส่ปุ๋ยเคมี ทันที
ซึ่งผลปรากฏว่า ข้าวที่มีอาการร่อแร่อยู่แล้ว รากไม่ทันได้หายใจ ไม่ทันผลิตรากชุดใหม่ เจอปุ๋ยยูเรียเข้าไปอีก รากจึงเน่า ดูดซับธาตุอาหารในดินไม่ได้ ทำให้ข้าวฟื้นตัวยาก เป็นผลให้ได้ผลผลิตข้าวตกต่ำมาก 
แต่เกษตรกร กลับไปเข้าใจว่า อาการเช่นนั้น เป็นผลจากน้ำท่วม ทั้งๆที่ หากรอสัก 3-4 วัน ได้มีเวลา พิจารณาดูอาการ ให้ต้นข้าวได้รับอากาศ ได้สร้างรากใหม่ (ดูจากรากสีข้าวเพิ่มขึ้น) ต้นข้าวกลับมาแข็งแรงกว่าเดิม ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีอีก จึงทำให้ ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี และได้ผลผลิตดีกว่ามาก

เขียนโดย ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช (อดีตรองอธิบดีกรมการข้าว)
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562